รีไฟแนนซ์ (refinance) VS รีเทนชั่น (retention) เลือกแบบไหนลดดอกเบี้ยได้ถูกใจกว่ากัน | Sammakorn
“อายุเข้าสามสิบแล้วต้องมีบ้าน” ประโยคนี้คงเป็นกับดักตกให้คุณคือหนึ่งในคนที่กำลังผ่อนค่าบ้านในทุกๆ เดือน ใครที่มีประสบการณ์ผ่อนบ้านด้วยตัวเองจะรู้ดี ผ่อนปีแรกๆ ไม่ยาก แต่ยิ่งผ่อนยิ่งรู้สึกเหนื่อยกับค่าดอกเบี้ยบ้านมากขึ้นทุกๆ งวด พอคำนวณเข้าจริงเหมือนส่งหมื่น หักต้นสิบ คงเกิดคำถามในใจใช่ไหม แล้วต้องผ่อนอีกนานแค่ไหนกว่าจะหมดหนี้บ้านก้อนนี้? หลายคนเลยทำได้แค่ก้มหน้าก้มตาผ่อนจ่ายตามใบเรียกเก็บเงินไปเรื่อยๆ จนลืมไปว่าเราสามารถปรับโครงสร้างหนี้บ้านได้ ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยบ้านให้ไม่พุ่งสูงเร็วจนผ่อนไม่ไหว และถ้าเราบอกว่ายังมีวิธีช่วยให้หนี้หมดไวแบบที่ประหยัดดอกเบี้ยขึ้น แค่ลองปรับรูปแบบการผ่อนชำระหนี้กัน คุณจะลองไหม?
ต้องยอมรับความจริงที่ว่า นับวันคนไทยมีบ้านยากขึ้น บางเคสยากเพราะถูกปฏิเสธสินเชื่อบ้านตั้งแต่แรก บางเคสยากเพราะผ่อนจ่ายไม่ไหวจนต้องปล่อยเป็นหนี้เสีย สำหรับเคสหลังถ้าผ่อนจ่ายไม่ไหวเพราะรับภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินไปไม่ได้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออก อย่าปล่อยให้หนี้ของเรากลายเป็นหนี้เสีย มารู้วิธีประหยัดดอกเบี้ยบ้านด้วย #รีไฟแนนซ์ และ #รีเทนชั่น ทางออกที่จะช่วยลดดอกได้เป็นแสน แล้วมาดูกันว่ารีแบบไหนที่จะถูกใจคุณมากกว่ากัน เพื่อให้คุณเป็นเจ้าของบ้านได้แบบที่เลือกประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่าความเป็นจริง
“ดอกเบี้ย” สิ่งแรกที่คนผ่อนบ้านต้องรู้ เพราะถ้าไม่รู้สิ่งนี้คุณอาจผ่อนไม่จบ
ก่อนอื่นคนที่ยังไม่เคยก้าวเท้าเข้าสถาบันการเงินต้องรู้สิ่งนี้ก่อนจะทำการขอสินเชื่อ เพราะถ้าไม่รู้เลย คุณอาจนั่งงงและคิดตามไม่ทันจนตกหลุมพรางอย่างไม่เข้าใจ นั่นคือ ประเภทของดอกเบี้ยบ้าน หลักๆ เมื่อทำการกู้สินเชื่อบ้าน จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้บ้านต้องจ่ายอยู่ 2 แบบหลักๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)
ดอกเบี้ยแบบคงที่ คือ เปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยที่คงตัว ไม่มีการขยับปรับเปลี่ยนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาและระยะเวลา ตัวเลขดอกเบี้ยคงที่เหมือนกับชื่อ
ดอกเบี้ยแบบลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยที่ไม่คงตัว มีการปรับลดได้ จะมีการแปรผันขึ้นหรือลงตามกำหนดของธนาคาร โดยจะยึดสภาพตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ณ เวลานั้นๆ แปลว่าแต่ละงวดอาจไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับขึ้น เป็นเหตุที่ยิ่งผ่อนยิ่งจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น
แต่จากสองแบบข้างต้นที่ว่ามา ยังมีอีกรูปแบบดอกเบี้ยที่คนผ่อนบ้านมักจะเจอ นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยแบบผสม (Mixed Rate Loan) คือ ยึดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในช่วงแรก เพราะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและล่อตาล่อใจ แล้วหลังจากครบตามสัญญาจะปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัวทันที
เมื่อเข้าใจความต่างของประเภทดอกเบี้ยแล้ว คุณจะเข้าใจว่าทำไมต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ตามมา เพราะการขอสินเชื่อบ้าน ตัวเลขของดอกเบี้ยจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับระยะเวลาตามที่ระบุในสัญญา ในช่วงแรกเริ่มของการกู้ ดอกเบี้ยมักจะเป็นแบบคงที่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งหมายถึงตัวเลขดอกเบี้ยจะมีการปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับกำหนดของธนาคาร ทำให้ต้องจ่ายค่าบ้านแพงกว่าเก่า
เดิมๆ เรียก รีเทนชั่น แล้วมันคืออะไร?
รีเทนชั่น (Retention) - หนึ่งในรูปแบบการปรับรูปแบบการผ่อนชำระหนี้กับธนาคารเดิม หลังจากผ่อนบ้าน 3 ปีแรก เราสามารถเข้าไปขอต่อรองลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารที่เราทำเรื่องกู้ไว้ เพื่อขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเหมือนกับสามปีแรก หรือจะเป็นการทำเรื่องขยายระยะเวลาผ่อนออกไปให้เท่ากับสัญญากู้แรก เพื่อให้เราผ่อนชำระต่ำเช่นสัญญาเดิม หรือจะทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกันก็ได้โดยทางธนาคารจะพิจารณาจากเงื่อนไขของลูกหนี้แต่ละบุคคลประกอบ แต่คนที่จะขอทำรีเทนชั่นได้ต้องเป็นลูกค้าชั้นดีที่ไม่มีหนี้เสีย มีการผ่อนชำระค่างวดมาอย่างต่อเนื่องและตรงเวลามาตลอดถึงจะทำการขอรีเทนชั่นกับธนาคารเดิมได้ เพื่อหาทางออกดอกเบี้ยที่ต่ำลง และถ้าประวัติการชำระงวดดี คุณอาจทำการขอรีเทนชั่นได้ทุก 3 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
ซึ่งข้อดีของการทำรีเทนชั่น คือความสะดวกที่ได้รับ เพราะไม่ต้องเดินเอกสารใหม่ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ธนาคารเดิมมีอยู่แล้วตั้งแต่ทำเรื่องขอสินเชื่อบ้าน แต่อาจจะมีเอกสารหรืออาจมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยแต่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และ เอกสารสัญญาเงินกู้ และค่าธรรมเนียมรีเทนชั่นซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
ย้ายใหม่เงื่อนไขอาจดีกว่ากับการรีไฟแนนซ์
รีไฟแนนซ์ (Refinance) - หลายคนคงคุ้นมากกว่ารีเทนชั่น เพราะจะเห็นธนาคารและสถาบันการเงินออกมาโฆษณาอยู่บ่อยๆ การรีไฟแนนซ์พูดง่ายๆ ก็เป็นการย้ายค่ายใหม่หนี้ก้อนเดิม เหมือนกับย้ายเครือข่ายโทรศัพท์นั่นเอง คือการขอปรับรูปแบบการผ่อนชำระหนี้กับธนาคารใหม่เมื่อชำระงวดผ่านไปแล้ว 3 ปี ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยคงที่จะขยับไปเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เราสามารถรีบย้ายไปทำเรื่องขอกู้ใหม่กับธนาคารใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่า ซึ่งข้อดีของการทำรีไฟแนนซ์ เราสามารถเลือกโปรโมชั่นที่ถูกใจได้เอง ลองศึกษาจากหลายๆ ธนาคารว่าอันไหนคุ้มสุด ถ้ามีช่วงโปรลด แลก แจก แถมหนักๆ เผลอๆ อาจได้อัตราดอกเบี้ยที่คุ้มกว่าการทำรีเทนชั่น หรือใครที่อยากขยับวงเงินการกู้เพื่อรีโนเวทบ้านก็ทำได้เลยในคราวเดียว
มีข้อดีแต่ก็แอบซ่อนข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์อาจจะยากกว่า ต้องเตรียมเอกสารมากมาย และมาลุ้นการอนุมัติอีกขึ้นอยู่กับเคสแล้วแต่ธนาคารจะพิจารณา แถมยังมีค่าใช้จ่ายหลายรายการที่ต้องทำการชำระให้กับทางธนาคาร
พอจะเห็นความแตกต่างระหว่าง รีเทนชั่น กับ รีไฟแนนซ์ กันแล้วใช่ไหม เพราะเรื่องดอกเบี้ยไม่เข้าใครออกใคร การจะผ่อนบ้านให้ประหยัดที่สุดใช่ว่าผ่อนครั้งเดียวจะจบ อาจจะต้องลองปรับรูปแบบการผ่อนชำระหนี้ใหม่เพื่อผลประโยชน์ที่ดีกว่า เมื่อรู้ความต่างนี้แล้ว ลองเอาไปใช้ประกอบการตัดสินใจดูว่า รีแบบไหนที่ถูกใจคุณที่สุด
แต่ถ้ายังไม่แน่ใจในเรื่องการเงิน ดอกเบี้ย หรือการกู้ต่างๆ สามารถสอบถาม Home Financial Specialist ของสัมมากรได้เลย เราพร้อมจะคลายทุกข้อสงสัยให้อย่างง่ายๆ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่จะให้คุณได้เป็นเจ้าของบ้านในฝัน
__________
สัมมากร
บ้านที่หลับสบาย
Have a good sleep
รับข้อมูลเพิ่มเติม: www.sammakorn.co.th
แอดไลน์สัมมากร: https://bit.ly/3NB2Irs
#อยากให้รู้ว่าสัมมากรขายบ้าน
#SAMMAKORN #บ้าน #สัมมากร #บ้านที่หลับสบาย #รีไฟแนนซ์ #รีเทนชั่น #ดอกเบี้ย #สินเชื่อบ้าน #HomeFinancialSpecialist