จบปัญหาขัดแย้งทุกความสัมพันธ์ ด้วย Active Listening | Sammakorn
เชื่อไหมว่า แค่คุณฟังอย่างเข้าใจ คุณสามารถช่วยชีวิตใครให้เขารู้สึกดีขึ้นได้อีกมากมาย โดยเฉพาะคนในครอบครัว
มันอาจเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ ถ้าเราจะต้องเอาความจริงเรื่องนี้มาบอก ว่าในโลกมีคนมากมายทั้งที่ป่วยและไม่ป่วยซึมเศร้า เลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อจบชีวิตตัวเอง เพียงเพราะฟางเส้นสุดท้ายในชีวิตของเขาเหล่านั้น คือการที่เขารู้สึกไร้คนรับฟังปัญหาของพวกเขาอย่างเข้าใจจริงๆ เขาจึงเลือกที่จะไม่พูด และจบปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง นักจิตวิทยาต่างลงความเห็นว่า คำพูดที่สวยหรู ไม่สามารถช่วยชีวิตใครได้เท่ากับการฟังด้วยใจ และนี่คือเหตุผลที่ว่า #ทำไมการฟังด้วยใจถึงสำคัญ
ทักษะการฟังดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอะไร แค่ได้ยิน และจับใจความได้ก็ดูน่าจะเพียงพอแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักทักษะการฟังแบบ Active Listening การฟังเชิงรุก หรือพูดง่ายๆ ว่ามันคือการฟังด้วยใจอย่างเข้าใจ ที่ไม่ใช่แค่ฟังผ่านๆ ไปเท่านั้น และไม่ใช่ทุกคนที่จะฟังด้วยใจเป็น มาถึงจุดนี้ เราเลยอยากพาคุณไปลองใช้ใจฟังให้มากกว่าเดิม เพราะเชื่อว่าถ้าคุณรู้เทคนิคนี้แล้ว และนำไปใช้ไม่ว่าจะในการฟังเรื่องอะไร มันจะเพิ่มให้การฟังครั้งต่อไปของคุณมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

เริ่มแรกเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า Active Listening คืออะไร เราขอเรียกว่า “การฟังด้วยใจ” ก็แล้วกัน เพื่อให้ทุกคนนึกตามได้ง่ายๆ ทฤษฎีนี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่มีหลักการ แต่การฟังด้วยใจ ใช้เพียงสองสิ่ง #สติ บวกกับ #เปิดใจ เราจะไม่ฟังเพื่อจับผิด เราจะไม่ฟังเพื่อตอบโต้ แต่เราจะฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายคิดและรู้สึกอย่างไร
มันอาจจะดูอึดอัดขัดความเคยชินไปสักนิด แต่ถ้าคุณได้ลองฝึกสักครั้งและใช้เทคนิคนี้ คุณจะพบประเด็นสำคัญที่อีกฝ่ายต้องการสื่อกับคุณจริงๆ แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากหรือเรื่องเปราะบาง ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้มากมายหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะการฟังในที่ทำงาน การฟังความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ฟังเรื่องของคนอื่น หรือแม้แต่การฟังเสียงของตัวเอง เพื่อเข้าใจอะไรอะไรมากขึ้น
ทุกวันนี้สังคมเราวุ่นวาย ไม่ว่าจะสังคมภายนอก หรือแม้แต่ในบ้านเอง เมื่อโฟกัสเข้ามาในบ้าน ครอบครัวยุคใหม่มักจะเจอกับปัญหา Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย ยิ่งเป็นเหตุให้คนในครอบครัวพูดคุยกันน้อยลง บวกกับการพูดคุยในบ้าน ถ้าไม่ได้ใช้ใจฟัง เชื่อว่าหลายๆ บ้านแทบไม่มีโอกาสพูดคุยกันเลย บางครั้งเมื่อลูกมีปัญหา ลูกกลับไม่กล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ เพียงเพราะเมื่อไหร่ที่เขาอ้าปาก พ่อแม่ก็พร้อมตอบกลับด้วยอคติ จนทำให้การพูดคุยกันเป็นเรื่องยาก เพราะลูกตัดสินแล้วว่าพ่อแม่ไม่มีทางเข้าใจเขาจริงๆ ถ้าบ้านคุณมีปัญหาเหล่านี้อยู่ ลองใช้ Active Listening ในการฟังกันและกันให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจความรู้สึกและอยู่เคียงข้างกันด้วยการฟังอย่างเข้าใจ

#แล้วเราจะหัดเป็นฟังด้วยใจได้อย่างไร
การฟังด้วยใจอาจไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของทุกคน เพียงแค่คุณเริ่มจากสิ่งเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ก็จะช่วยให้คุณเป็นผู้ฟังที่ดีได้แล้ว และอีกฝ่ายจะสามารถรับรู้ความห่วงใยของคุณได้จากการเปลี่ยนวิธีรับฟัง
1. การฟังด้วยใจเริ่มต้นที่เคลียร์ใจเราก่อน
ก่อนที่คุณจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้ คุณต้องพร้อมที่จะเปิดโหมดเข้าสู่การเป็นผู้ฟังอย่างเต็มตัว และปิดโหมดผู้พูดของคุณเสียก่อน ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ของอีกฝ่าย วางความคิดของตัวเราลง แล้วเปิดใจให้กว้าง หายใจให้ลึกๆ พร้อมรับฟังปัญหาด้วยสติ โดยไม่เอาความคิดของเราไปตัดสินอีกฝ่าย
2. ฟังด้วยใจต้องควบคู่ไปกับการสังเกต
คุณจะฟังด้วยใจอย่างเข้าใจได้ คุณต้องหัดสังเกตอีกฝ่ายด้วย ลองสังเกตสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร เศร้าโศกเสียใจ หรือกำลังดีใจ เพื่อที่คุณจะได้ใช้ความระมัดระวังในการวางตัว เพราะบางครั้ง ถ้าเรามัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาฟัง แต่ไม่เข้าใจในสถานการณ์ ก็อาจจะทำให้เราวางตัวไม่เป็นธรรมชาติ จนดูฝืนจนเหมือนคุณโดนบังคับให้ฟัง ซึ่งอาจสร้างความอึดอัดให้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และหากเรื่องที่คุณฟังเป็นเรื่องเปราะบาง หรือ ผู้พูดอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคุณก็จะได้สังเกตความผิดปกติใดๆได้จากสีหน้า แววตาของเขา
3. สายตาหลอกกันไม่ได้ อีกฝ่ายสามารถจับความจริงใจของคุณได้จากสายตาที่คุณแสดงออก
แน่นอนว่าถ้าจะก้มหน้าก้มตาฟังโดยหลบเลี่ยงการสบสายตาอันนี้คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ระหว่างที่คุณฟัง คุณสามารถที่จะส่งความรู้สึกเป็นห่วง หรือตอบรับในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดได้ทางสายตา เพราะการใช้ใจฟังเราไม่จำเป็นต้องพูดอะไรกลับไปเลยก็ได้ เพียงแค่อยู่ข้างๆ ฟังอย่างเข้าใจ ด้วยความเอาใจใส่ และแสดงความเข้าใจออกมาทางสายตาก็เพียงพอแล้ว
4. ทำใจให้นิ่งดั่งขุนเขา
การจะเป็นผู้ฟังที่ดี อาจจะต้องใช้ความอดทนสักหน่อย อดทนที่จะไม่โต้แย้ง หรือพูดขัด อดทนที่จะไม่เอาความคิดเราเข้าไปตัดสินในสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูดออกมา ลองทำใจให้นิ่ง และเอาเราเข้าไปไว้ในโลกของผู้ฟัง ก็จะเป็นการเปิดมุมมองให้เราสามารถเข้าใจเขาได้ง่ายขึ้นอีกทาง และที่สำคัญการนิ่งของเรา คือ ต้องนิ่งให้ได้ในทุกสภาวะอารมณ์ที่อาจปะทะความรู้สึกเราในชั่วขณะ
5. อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้ามาฟัง
การฟังด้วยใจ คุณต้องตัดอดีต และ อนาคตออกไปก่อน ฟังแค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า รับรู้เฉพาะสิ่งที่เขากำลังสื่อสารออกมา ไม่ต้องพยายามเชื่อมเรื่องราวกับช่วงเวลาต่างๆ หรือขุดคุ้ยหาอดีต เพราะบางครั้ง การยกแม่น้ำทั้งห้ามาโต้ตอบ อาจทำให้คุณกลายเป็นฝ่ายควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว
6. ใช้ภาษาทางกายให้กำลังใจแทนคำพูด
ระหว่างที่ฟัง หากเป็นเรื่องเรื่องสำคัญหรือเปราะบาง บางครั้งถ้าเรารู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ไหว หรือเขาเครียดเกินจะอดทนได้ เราสามารถที่จะให้กำลังใจเขาด้วยการจับมือ หรือโอบกอดตามสมควร เพื่อเป็นการแสดงว่าเราอยู่ตรงนี้เป็นเพื่อนเขานะ เราไม่ได้ฟังอย่างไร้อารมณ์ ซึ่งบางครั้งหากผู้พูดเจอเรื่องแย่ๆ มา การที่เขามาระบายกับเรา เขาอาจจะไม่ได้ต้องการคำปรึกษาอะไรมากมาย แต่ในทางกลับกันเขาอาจจะรู้สึกสบายใจขึ้น ถ้ารับรู้ว่ามีใครอยู่เคียงข้างเขาในวันที่เขาอ่อนแอ
ลองฟังด้วยใจมากขึ้นกว่าเดิม บางครั้งในบางปัญหาคุณจะเข้าใจอะไรได้มากและละเอียดขึ้น ทำความเข้าใจในเรื่องราว และความรู้สึกของอีกฝ่าย บางทีปัญหาหรือความขัดแย้งนั้นๆ อาจไม่ได้เลวร้าย และคุณสามารถจัดการได้ด้วยการฟังด้วยใจ
-
สัมมากร
บ้านที่หลับสบาย ไร้กังวล
Have a good sleep
แอดไลน์สัมมากร เพื่อรับข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม
คลิก : https://bit.ly/3NB2Irs
#อยากให้รู้ว่าสัมมากรขายบ้าน #SAMMAKORN #บ้าน #สัมมากร #บ้านที่หลับสบาย #การฟังเชิงรุก #ฟังแบบตั้งใจ #การเป็นผู้ฟังที่ดี